ช่วยให้ลูกห่างไกลจาก Social Media

วิธีช่วยไม่ให้ลูกใช้โซเชียลมีเดียมากจนเกินไป

เนื่องจากสภาพแวดล้อมสังคมสมัยนี้ถูกปกคลุมไปด้วยสื่อเทคโนโลยี เด็กที่เกิดมาในยุคนี้จึงเติบโตควบคู่ไปกับสื่อ “Social Media” และสิ่งหนึ่งที่เขาต้องการคือ การเป็นที่ยอมรับของกลุ่มเพื่อนว่าตนเองเป็นคนทันสมัย ซึ่งการใช้สื่อเทคโนโลยีที่ทันสมัยดูเหมือนจะเป็นแฟชั่นที่นิยม และหากไม่มีใช้ก็อาจไม่ได้รับการยอมรับจากเพื่อน การเป็นพ่อ แม่ของเด็กในยุคนี้ จึงดูไม่ง่ายเอาเสียเลย วันนี้เรามีวิธีป้องกันมาแนะนำ สำหรับครอบครัวที่กำลังประสบปัญหาลูกติดโซเชียลมีเดีย

ผลการวิจัย มหาวิทยาลัยคาร์ดิฟฟ์ พบว่า เยาวชน หรือเด็กนักเรียนวัยรุ่นที่มีอายุระหว่าง 12-15 ปี จากจำนวน 1 ใน 3 คน มักจะสะดุ้งตื่นขึ้นมาตอนกลางดึกอย่างน้อยสัปดาห์ละ 1-2 ครั้ง เพื่อติดต่อกับผู้คนในโลก Social Media ขณะที่เด็กนักเรียนมากกว่า 1 ใน 5 คน มักจะตื่นขึ้นมากลางดึกเพื่อพูดคุย และเล่นแชทแบบนี้เป็นประจำทุกคืน แน่นอนเลยว่าเด็กๆ เหล่านี้ มักจะมีอาการอ่อนเพลีย เมื่อยล้า ในเวลาที่ไปโรงเรียน งานวิจัยครั้งนี้ได้ทำการสำรวจจากกลุ่มนักเรียนจำนวน 848 คน จากสถาบันโรงเรียนทั้งหมดที่อยู่ในแคว้นเวลส์ ซึ่งสามารถจัดแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มวัย ได้แก่ นักเรียนที่มีช่วงอายุระหว่าง 12-13 ปี และ 14-15 ปี ดังนั้น สิ่งที่คนเป็นพ่อแม่จะทำได้ก็คือ คอยดูแลพฤติกรรมการใช้สื่อโซเชียลลูกแบบห่างๆ

วิธีช่วยให้ลูกห่างไกลจาก Social Media

1. ผู้ปกครองต้องเป็นแบบอย่างที่ดี เราอาจไม่สามารถบอกให้ลูกหยุดเสพเทคโนโลยีต่างๆ ได้ หากตัวเราเองยังคงดูทีวีจนดึกดื่น ส่งข้อความในขณะขับรถ หรือมีมือถือไว้ข้างตัวขณะทานอาหาร จิตแพทย์ท่านหนึ่งกล่าวว่า หากเราลดปริมาณการดูหนังลง เด็กจะมีพฤติกรรมการติดหนังลดลงด้วย ดังนั้น กฎข้อบังคับต่างๆ ที่ตั้งขึ้นมากมายเกี่ยวกับการใช้เครื่องมือสื่อสาร ตัวเราเองในฐานะพ่อ แม่ ต้องเป็นแบบอย่างที่ดีด้วย

ช่วยให้ลูกห่างไกลจาก Social Media

2. กำหนดระยะเวลาการเล่น การงด หรือกีดกันไม่ให้ลูกเล่นเครื่องมือสื่อสารต่างๆ ดูเหมือนจะเป็นเรื่องยาก ในเมื่อหลีกเลี่ยงไม่ได้ สิ่งสำคัญที่ต้องทำคือ เตือนให้รู้ว่าพ่อกับแม่รู้ว่าลูกกำลังทำอะไรอยู่ บางครั้งอาจต้องเตือนอย่างใจเย็น พูดกับเขาด้วยน้ำเสียงที่อ่อนโยนว่า “แม่คิดว่าลูกใช้เครื่องมือถือมากเกินไป” ดังนั้น ถึงเวลาที่ควรหยุด และหากิจกรรมอย่างอื่นทำบ้าง

3. สร้างแรงจูงใจให้ลูกออกกำลังกาย เด็กหลายคนเลิกเล่นกีฬาช่วงวัยรุ่นเหตุเพราะการเสพติดโซเชียลมากเกินไป ผู้ปกครองควรสร้างแรงจูงใจให้ลูกเป็นฝ่ายเลือกเล่นกีฬาที่ชอบ และสนับสนุนให้ลูกไปถึงเป้าหมาย โดยการไปรับไปส่ง และจัดตารางทำกิจกรรมร่วมกันกับลูก หากลูกชอบการดูดีวีดี คุณพ่อคุณแม่ก็อาจสร้างแรงจูงใจให้ลูกโดยการจัดหาดีวีดีเกี่ยวกับการออกกำลังกาย และฝึกทำด้วยกันทั้งบ้าน เพื่อเป็นการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีภายในครอบครัวด้วย

4.สนับสนุนการทำกิจกรรมที่ได้เข้าสังคม กิจกรรม หรือการเข้าร่วมในคลับ ช่วยให้ลูกได้มีโอกาสเข้าสังคม และรู้จักการปรับตัวเข้ากับคนอื่น ในกรณีที่ไม่สามารถชักจูงให้ลูกเข้าร่วมในคลับต่างๆ ได้ อาจลองให้ลูกเลือกทำกิจกรรมกับกลุ่มที่ลูกคุ้นเคย และสนใจก่อน เช่น ร่วมกิจกรรมที่โรงเรียน ทำกิจกรรมกับเพื่อนบ้านใกล้เคียง หรืออาสาสมัครทำงานที่ลูกชอบ เป็นต้น

5.ข้อตกลงร่วมกันในการใช้เครื่องมือสื่อสาร เช่น การให้สัญญา หรือข้อตกลง ซึ่งเป็นกฎของบ้านที่ต้องปฏิบัติร่วมกัน อย่างเช่น การให้รางวัล หรือทำโทษเมื่อเขาทำผิด ส่วนตัวอย่างข้อตกลงมีดังต่อไปนี้
• ห้ามส่งข้อความออนไลน์ในระหว่างทานอาหาร ไม่ว่าเป็นที่บ้าน หรือร้านอาหาร
• ห้ามดูทีวีขณะรับประทานอาหาร
• ต้องทำการบ้าน หรืองานบ้านให้เสร็จก่อนดูทีวีหรือเล่นมือถือ
• เมื่อถึงเวลานอนต้องปิดทีวี และงดเครื่องมือสื่อสารทุกชนิด
• ใช้คอมพิวเตอร์ได้เฉพาะในห้องนั่งเล่น
• ไม่ตั้งทีวีไว้ในห้องนอน

6.เปิดอกคุย หากการตั้งกฎใช้กับลูกไม่ได้ผล อาจถึงเวลาในการคุยกับลูกตรงๆ ถึงผลเสียของการเสพสื่อเทคโนโลยีมากเกินไป ให้ลูกค้นดูงานวิจัยมากมายถึงผลกระทบที่เกิดจากการใช้สื่อ Social Media มากเกินความจำเป็น เช่น โรคอ้วน จอประสาทตาเสื่อม โรคหัวใจ เป็นต้น เพื่อจะได้ตระหนักถึงอันตรายที่กำลังเกิดขึ้น

ไม่ว่าจะเป็นสื่อเทคโนโลยีประเภทใดก็ตาม ล้วนแต่มีทั้งข้อดี ข้อเสีย ผู้ปกครองควรให้คำแนะนำ ใส่ใจในกับการเลี้ยงลูก และแบ่งเวลาทำกิจกรรมร่วมกันให้มากขึ้น เพื่อที่ลูกจะได้ห่างไกลจากสื่อ Social Media

ติดตามเพิ่มเติมได้ที่ jo-medicalpages.com

Releated