การปรับนโยบายด้านการศึกษาระดับอาชีวศึกษา

กระทรวงศึกษาธิการได้มีการปรับนโยบายด้านการศึกษาระดับอาชีวศึกษาเพื่อเตรียมคนสู่ศตวรรษที่ 21 โดยจัดการศึกษาระบบทวิภาคี เพื่อให้นักเรียนได้มีทักษะและความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน มีเรียนภาษาอังกฤษเพิ่มขึ้น เรียนรู้การใช้ดิจิทัล เพื่อเป็นเครื่องมือในการสร้างอาชีพ และมีการจัดตั้งศูนย์ประสานงานการผลิตและพัฒนากำลังคนอาชีวศึกษาในภูมิภาค ซึ่งถือเป็นโอกาสที่ดีสำหรับน้องๆ ที่สนใจอยากจะเรียนอาชีวศึกษา หากกำลังตัดสินใจว่าจะเรียนต่ออะไรในอนาคตและอยากรู้จักกับการเรียนสายอาชีพให้มากขึ้น มาศึกษาข้อมูลก่อนได้ ดังนี้

อาชีวศึกษาคืออะไร

การเรียนสายอาชีวศึกษาหรือสายอาชีพ คือ การเรียนต่อในระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ หรือ ปวช. เป็นการเรียนในหลักสูตรที่ไม่ได้เน้นการเรียนวิชาพื้นฐานเหมือนกับสายสามัญ มีระยะเวลาในการเรียน 3 ปี โดยหากเรียนจบแล้วจะมีทางเลือกในการเรียนต่อ 2 ทางเลือกใหญ่ๆ คือ
1. การเรียนต่อในระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง หรือ (ปวส.) ใช้เวลาเรียน 2 ปี หลังจากจบแล้วสามารถเรียนต่อปริญญาตรี อีก 2 ปี
2. การเรียนต่อในระดับมหาวิทยาลัย (ระดับปริญญาตรี) ใช้เวลาเรียน 4 – 5 ปี แล้วแต่คณะวิชาที่เลือกเรียน

จุดเด่นสำคัญที่ทำให้หลายๆ คนเลือกเรียนต่อในสายอาชีพนั้น เพราะจะได้มีโอกาสเรียนในสายวิชาที่เน้นการทำงานจริงเป็นหลัก ได้พุ่งเป้าไปที่การเรียนในด้านนั้นๆ อย่างเต็มที่ เพราะต่อให้เรียนจบแค่ระดับ ปวช. ก็สามารถทำงานได้ และทำให้นักเรียนได้เข้าใจถึงการเรียนตามหลักสูตรที่ออกแบบมาเพื่อการประกอบอาชีพในอนาคต

ข้อดีของการเรียนสายอาชีพ

1. ได้ความรู้ ได้ประสบการณ์ มีรายได้ระหว่างเรียน
นอกจากการเรียนทฤษฎีแล้ว หลักสูตรสายอาชีพยังเน้นการลงมือภาคปฏิบัติอย่างเข้มข้น ทุกหลักสูตรมีการฝึกงานเพื่อสร้างเสริมประสบการณ์และทักษะวิชาชีพตั้งแต่ยังเรียนอยู่ไม่น้อยกว่า 300 ชั่วโมง นักเรียนจะได้มีโอกาสลงมือปฏิบัติงานจริง ฝึกใช้อุปกรณ์ เรียนรู้ กระบวนการในสายอาชีพนั้นๆ เพื่อเป็นประสบการณ์ตรงจากหน้างาน

2. มีทักษะวิชาชีพติดตัว
การได้มีโอกาสฝึกงานระหว่างเรียนสายอาชีพให้อะไรมากกว่าการเรียนรู้จากในตำราเพียงอย่างเดียว เพราะการฝึกฝนปฏิบัติงานเป็นประจำย่อมทำให้เกิดทักษะและความชำนาญติดตัวนักเรียนไปตลอด เมื่อศึกษาจบระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพสามารถใช้เป็นใบเบิกทางในการสมัครงานได้เลย

3. สามารถเลือกเรียนได้หลากหลาย
หลักสูตรสายอาชีพมีให้เลือกเรียนหลากหลายสาขาวิชา ซึ่งแต่ละสาขามีความน่าสนใจ จบแล้วมีตำแหน่งงานรองรับ นักเรียนสามารถเลือกเรียนได้ตามความสนใจและความถนัดของตัวเอง

การศึกษาระดับอาชีวศึกษา

4. ได้รับความนิยมจากตลาดแรงงาน
ตำแหน่งงานในปัจจุบันกำลังขาดแคลนช่างฝีมือและบุคลากรวิชาชีพทักษะเฉพาะอยู่เป็นจำนวนมาก หลายคนแม้จะเรียนจบปริญญาตรงกับสายงาน แต่ยังขาดประสบการณ์ในการทำงานจริง การเรียนสายอาชีพจึงมีข้อได้เปรียบมากกว่า

5. โอกาสเรียนต่อระดับอุดมศึกษา
วุฒิการศึกษาในการเรียนสายอาชีพไม่ใช่แค่ ปวช. ปวส. เท่านั้น เพราะหลายๆ สถาบันอุดมศึกษาในปัจจุบันหันมารับนักเรียนสายอาชีพให้เข้าศึกษาต่อในระดับปริญญาตรี โดยเปิดหลักสูตรพิเศษที่น่าสนใจ เพื่อสนับสนุนให้นักเรียนสายอาชีพได้เรียนต่อในระดับที่สูงขึ้น

ประเภทวิชาน่าสนใจของสายอาชีพ

หลักสูตรการเรียนการสอนในระดับ ปวช.นั้น ได้มีการปรับปรุงเพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงานโดยได้แบ่งประเภทวิชาออกเป็น 11 ประเภท ได้แก่

1. สาขาวิชา อุตสาหกรรม  : ช่างยนต์ ช่างกลโรงงาน ช่างเชื่อมโลหะ ช่างไฟฟ้ากำลัง ช่างอิเล็กทรอนิกส์ ช่างก่อสร้าง เครื่องเรือนและตกแต่งภายใน สถาปัตยกรรม สำรวจ ช่างเขียนแบบเครื่องกล ช่างซ่อมบำรุง ช่างพิมพ์ เทคนิคแว่นตาและเลนส์ ช่างโทรคมนาคม ช่างเครื่องมือวัดและควบคุม อุตสาหกรรมยาง เมคคาทรอนิกส์ ช่างเทคนิคคอมพิวเตอร์ เทคโนโลยีฟอกหนัง ช่างเครื่องทำความเย็นและปรับอากาศ เครื่องกลเกษตร
2. สาขาวิชา พาณิชยกรรม  : การบัญชี การตลาด การเลขานุการ คอมพิวเตอร์ธุรกิจ ธุรกิจสถานพยาบาล การประชาสัมพันธ์ ธุรกิจค้าปลีก ภาษาต่างประเทศ โลจิสติกส์ การจัดการสำนักงาน การจัดการด้านความปลอดภัย ธุรกิจการกีฬา
3. สาขาวิชา ศิลปกรรม  : วิจิตรศิลป์ การออกแบบ ศิลปหัตถกรรม ศิลปกรรมเซรามิก ศิลปหัตถกรรมรูปพรรณเครื่องถมและเครื่องประดับ ถ่ายภาพและมัลติมีเดีย เทคโนโลยีศิลปกรรม คอมพิวเตอร์กราฟิกอุตสาหกรรมเครื่องหนัง เครื่องประดับอัญมณี ช่างทองหลวง การพิมพ์สกรีน ออกแบบนิเทศศิลป์
4. สาขาวิชา คหกรรม : แฟชั่นและสิ่งทอ อาหารและโภชนาการ คหกรรมศาสตร์ ธุรกิจเสริมสวย ธุรกิจคหกรรม
5. สาขาวิชา เกษตรกรรม : เกษตรศาสตร์
6. สาขาวิชา ประมง  : เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ
7. สาขาวิชา อุตสาหกรรมท่องเที่ยว  : การโรงแรม การท่องเที่ยว
8. สาขาวิชา อุตสาหกรรมสิ่งทอ : เทคโนโลยีสิ่งทอ เคมีสิ่งทอ เทคโนโลยีเครื่องนุ่งห่ม
9. สาขาวิชา เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร  : เทคโนโลยีสารสนเทศ คอมพิวเตอร์โปรแกรมเมอร์
10. สาขาวิชา อุตสาหกรรมบันเทิงและดนตรี : อุตสาหกรรมบันเทิง การดนตรี การสร้างเครื่องดนตรีไทย
11. สาขาวิชา พาณิชย์นาวี : เดินเรือ ช่างกลเรือ

ติดตามเพิ่มเติมได้ที่ jo-medicalpages.com

Releated